บทความ : วิธีคิด OT สำหรับพนักงานที่เป็นไปตามกฏหมายแรงงานประเทศไทย
การทำงานล่วงเวลาถือเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับพนักงาน โดยมากแล้ว มักจะมีการกำหนดพนักงานประเภท พนักงานรายวันให้มีสิทธิ์ในการเข้าถึงรายได้เพิ่มส่วน “OT” หรือ Overtime ที่เป็นรายได้พิเศษ ที่กฏหมายได้กำหนดไว้ หากมีการทำงานนอกระยะเวลาทำงาน และนั่นเป็นผลตอบแทนที่พนักงานพึงได้รับ โดยเฉพาะพนักงานรายวัน ที่สัดส่วนการเพิ่มขึ้นของรายได้นั้นมีผลต่อความเป็นอยู่ของเขาเหล่านั้นเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี การคิด OT นั้นไม่ได้กระทำคำนวณจำเพาะพนักงานรายวันแต่เพียงอย่างเดียว สำหรับพนักงานรายเดือน ที่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือนก็สามารถได้รับรายได้พิเศษสำหรับการทำงานนอกเวลาได้เช่นเดียวกัน โดยเป็นการตกลงกันเอาไว้ก่อนล่วงหน้าระหว่างพนักงานและสัญญาจ้างที่ได้เซ็นกันเอาไว้ หรือตกลงกันเอาไว้แล้ว
การทำงานต่อเนื่องล่วงเวลาหรือ OT นั้นมีการกำหนดเวลาพักให้กับพนักงานด้วยเช่นเดียวกัน ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะงานส่วนมากที่ต้องการทำงาน OT มักจะเป็นงานที่ใช้แรงงานพิเศษหรือเกี่ยวกับการผลิต หรือการให้บริการ จากกำลังคนปกติที่รองรับได้เนื่องจากงานเป็นปริมาณมากกว่าปกติ หรือ พนักงานคนอื่นไม่สามารถมาทำงานในเวลานั้นๆได้ ต้องทำแทนแบบไม่ได้ทำการสลับกะระหว่างกันเอาไว้ก่อน นายจ้างจะต้องกำหนดให้พนักงานได้มีการพักอย่างน้อย 20 นาที เมื่อมีการทำงานล่วงเวลา Overtime มากกว่า 2 ชั่วโมงอย่างไรก็ดีเรื่องนี้แล้วแต่ตกลงกันระหว่างพนักงานและตัวองค์กรที่กำหนดไว้เอง เพราะ เนื้องานไม่ได้จำเป็นต้องพักทุกกรณีหากเนื้องานนั้นจำเป็นต้องกระทำต่อเนื่องกันหรือเป็นเหตุฉุกเฉินต้องกระทำต่อไป นายจ้างและลูกจ้างต้องตกลงกันเอาไว้ก่อนและได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยเช่นเดียวกัน
เราจะต้องคิดค่าการทำงานนอกเวลา OT ให้กับพนักงานเมื่อใดกัน
โดยปกติแล้วการคำนวณเงินได้จากการทำ OT นั้นต้องเข้าใจเสียก่อนว่า เวลาทำงานปกติคือเวลาใดกันแน่ โดยจะแบ่งเป็นเรื่องของเวลาทำงานปกติ และ วันทำงานปกติ ซึ่งวันที่เหลือคือวันหยุดของพนักงาน โดยวันหยุดของพนักงานนั้นก็แบ่งแยกออกมาเป็น วันหยุดประจำสัปดาห์ และ วันหยุดพิเศษ (หรือเรียกว่า วันหยุดนักขัตฤกษ์) โดยวันหยุดพิเศษนั้นกฏหมายได้กำหนดให้เรียกเป็น “วันหยุดประจำปี” แทนโดยบริษัทหรือนายจ้างเป็นคนกำหนดให้กับพนักงานทั้งหมด จะเหมือนกันหมดทุกคนหรือไม่ก็ได้ แล้วแต่แผนกและความจำเป็นของเนื้องานในแต่ละสายงาน ซึ่งกำหนดไว้ขั้นต่ำอย่างน้อย 13 วันต่อปี สำหรับพนักงานแต่ละคน หรือ อาจจะกำหนดให้มากกว่า 13 วันก็ได้เช่นเดียวกัน โดยจริงๆแล้ว การกำหนดวันหยุดประจำปี ไม่ได้จำเป็นต้องกำหนดให้ตรงกับวันหยุดนักขัตฤกษ์ใดๆก็ได้ อาจจะกำหนดเป็นวันเกิดของท่านประธานก็ให้พนักงานทั้งหมดหยุด แล้วนับเป็น 1 ใน 13 วันขั้นต่ำของวันหยุดประจำปีก็ได้อิสระแล้วแต่ทางนายจ้างเป็นคนกำหนด โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากพนักงานเองเลยก็ได้ แต่อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ให้เป็นไปตามกฏหมายเพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสพักผ่อนในหนึ่งปีๆเพียงเท่านั้น อย่างไรก็ดีส่วนมากแล้ว การกำหนดวันหยุดประจำปี มักจะกำหนดให้พนักงานได้หยุดตามเทศกาลเพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสกลับไปพบปะญาติพี่น้อง หรือเดินทางท่องเที่ยวได้
เมื่อคุณเข้าใจเรื่องของ วันเวลาทำงานปกติ และ วันหยุดทุกประเภทแล้ว สิ่งเหล่านี้ต่างหากจะเป็นตัวคูณสำหรับการเอาไปคิดรายได้เงินได้พิเศษจากการทำงานล่วงเวลา(งานปกติ) ได้แล้ว และ ทุกคนจะเข้าใจตรงกันระหว่างตัวพนักงานและนายจ้างเอง โดยเบื้องต้นนั้น กฏหมายได้กำหนดเอาไว้เป็นพื้นฐานแล้ว ส่วนที่จะได้มากกว่ากฏหมายกำหนดไว้นั้นก็สามารถกระทำได้โดยเป็นความยิมยอมของนายจ้างกำหนดให้มากกว่าที่กฏหมายกำหนดได้
แนวคิดเป็นแบบสรุปง่ายๆตามตัวอย่างเช่น คุณได้รับการกำหนดการทำงานเวลาปกติคือ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น และ ให้ทำงานเป็นประจำทุกวัน จันทร์ถึงเสาร์ทุกเสาร์ และ วันหยุดประจำสัปดาห์คือวันอาทิตย์ ดังนั้นหากคุณได้เข้าทำงานที่ตกลงว่าจะได้รับค่าล่วงเวลา Overtime หรือที่เรียกกันเล่นๆว่า โอที หากเราโดยกำหนดให้ทำงานเพิ่ม อาจจะด้วยเหตุผลว่า “มีงานด่วนต้องทำ” โดยนายจ้างกำหนดร้องขอให้กระทำ แล้วคุณได้รับเงื่อนไข OT ในการเข้าทำงานนั้น เพื่อเป็นแรงจูงใจแล้ว คุณจะได้รับตัวคูณพิเศษสำหรับระยะเวลางานดังกล่าว สำหรับพนักงานตัวอย่างนี้ นายจ้างได้ร้องขอพนักงานเงินเดือน ให้อยู่ช่วยเครียร์งานที่ด่วนพิเศษมากในคืนนี้ และนายจ้างให้ OT คุณสามารถได้รับเงิน โอที พิเศษนี้ได้
ตัวอย่างวิธีคิด OT : นาย ข. เวลาการเข้างานปกติคือ 08:00 - 17:00 น.ในวันจันทร์ถึงเสาร์และกำหนดว่าวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ของนาย ข. ดังนั้นแล้ว
หากทำงาน วันจันทร์ถึงเสาร์เวลา 08:00-17:00 น. ค่าจ้างส่วนนี้จะถูกเรียกว่า “ค่าจ้างวันทำงานปกติ”
หากทำงาน ก่อนหรือหลัง เวลา 08:00-17:00 น.ในวันจันทร์ถึงเสาร์ ค่าจ้างส่วนนี้จะเรียกว่า “โอทีวันทำงานปกติ”
หากทำงาน วันอาทิตย์ (ที่เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์) ในเวลา 08:00-17:00 น. จะเกิดค่าจ้างส่วนนี้เรียกว่า “ค่าจ้างวันหยุด”
หากทำงานวันอาทิตย์แล้วมาทำงานก่อนและหลังเวลาเข้าออกงานปกติอีกต่างหาก เช่น โดนกำหนดให้มาทำงานก่อน 08:00 น. หรือ หลังเวลา 17:00 น. เราก็จะเรียกค่าจ้างส่วนนี้ว่าเป็น “โอทีวันหยุด”
ข้อสังเกตเกี่ยวกับ OT : เราจะเรียกมันว่าเป็น โอที ก็ต่อเมื่อมันเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ โดยในทีนี้เวลาทำงานปกติคือ 08:00-17:00 ดังนั้นหากโดนกำหนดให้ทำงานก่อนหรือหลังเวลาทำงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นวันเวลาใดก็ตามก็จะเป็น OT ทั้งหมด ส่วนเรื่องของวัน เราจะเรียกว่า วันทำงาน และ วันหยุด ก็จะได้ค่าจ้างในวันทำงาน และ ค่าจ้างในวันหยุด แยกส่วนกันไป ให้มองภาพออกมาเป็นสองมิติซ้อนทับกัน คือ วัน และ เวลา นั่นเอง
กลับมาที่ประเด็นว่า หากเราจะคิด OT (เรื่องของเวลา) แล้วจะคิดกันอย่างไรเป็นขั้นต่ำที่พนักงานจะต้องได้ตามกฏหมายหากพนักงานมีสิทธิ์ได้รับเงินส่วนนี้
OT สำหรับวันทำงานปกติ จะได้รับด้วยอัตราไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของเรทค่าจ้างปกติ
OT สำหรับวันหยุด จะต้องได้รับด้วยอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของเรทค่าจ้างปกติ
ทีนี้ก็ให้ลองไปพิจารณาตัวอย่าง คือ นาย ข. ที่ว่าตามตัวอย่างด้านบนเหมือนเดิม
เกิดพนักงานต้องทำงาน ในวันจันทร์นี้ และต้องทำถึง 20:00 น. โดยกำหนดเวลาการทำงานนี้ให้ไว้และเป็นโอทีให้กับพนักงาน ข. คนนี้ ห้วงเวลา ระหว่าง 17:00 - 20:00 น. หรือเท่ากับ 3 ชั่วโมงนี้ ก็จะถือว่าเป็น เวลาทำงานโอที และ ได้เงินโอทีพิเศษได้ โดยต้องได้ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า (เพราะมันเป็นวันทำงานปกติคือวันจันทร์)
สมมุติว่า นาย ข. ของเรานั้นได้เงินเดือน (เป็นพนักงานเงินเดือน) เท่ากับ 20,000 บาทต่อเดือน
วิธีการคิด OT สำหรับ 3 ชั่วโมงที่ต้องทำงานเพิ่มขึ้นมานี้คิดได้ตามตัวอย่างต่อไปนี้
(ค่าจ้าง ÷ จำนวนวันทำงานทั้งเดือน ÷ ชั่วโมงทำงานต่อวัน ) x 1.5 x ชั่วโมงโอทีที่ทำ
(20,000 ÷ 30 ÷ 8) x 1.5 x 3 = 375 บาท
เพราะฉะนั้น พนักงาน ข. ของเรานั้นจะได้เงิน โอที เพิ่มคือ 375 บาท.-
สมมุติอีกว่า พนักงาน ข. นั้นได้รับการร้องขอว่า วันอาทิตย์นี้จะต้องไปออกบู้ทสินค้าตั้งแต่ 07:00 น.เช้าเพื่อไป จัดเรียงของที่จะออกบู้ท และขอให้อยู่เก็บบู้ทเวลา 18:00 น.ด้วย โดยขอร้องให้ไปกับเจ้านายด้วย เพราะเจ้านายขายของไม่ค่อยเป็น และ พนักงาน ข.ก็ยินดีที่จะเข้าทำงานในวันอาทิตย์นี้ เพราะว่างอยู่พอดี และยินดีที่จะได้ค่าจ้างพิเศษด้วยเช่นเดียวกัน แน่นอนว่า ทุกคนนั้นแฮปปี้ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง โดยกฏหมายนั้นจะกำหนดการคำนวณค่าจ้างกรณนี้ตามตัวอย่าง
แปลว่า พนักงาน ข. นี้ต้องทำงานในวันหยุดและได้ “ค่าจ้างวันหยุด” ซึ่งมีประเด็นต้องเข้าใจลึกเข้าไปอีก เพราะ ค่าจ้างวันหยุด นั้นจะต้องมองประเภทของพนักงานด้วย โดยหากเป็นพนักงาน ข. ที่รับเงินเป็นเงินเดือนอยู่แล้วนั้น แปลว่า พนักงาน ข.คนนี้ได้รับค่าจ้างในวันหยุดอยู่แล้ว! ฟังแล้วคิดช้าๆอีกครั้งคือปกติแล้วพนักงานเงินเดือนนั้น หากไม่ได้ทำการในวันใดก็ตามวันนั้นๆถือว่าได้รับค่าจ้างอยู่แล้ว ก็เพราะได้รับเป็นเดือนอยู่แล้วไม่ได้สนหรอกว่าเดือนนั้นมีวันอาทิตย์กี่วัน ดังนั้นแล้ว กรณีนี้ พนักงาน ข. เป็นพนักงานเงินเดือนแล้วยอมรับว่าจะไปออกบู้ทให้วันอาทิตย์ ดังนั้นห้วงเวลา 08:00-17:00 น. นั้นถือว่าเป็นการทำงานวันหยุดเพิ่มขึ้นมา ซึ่งหากเขานอนอยู่บ้าน เขาก็จะได้เงินเดือนครบถ้วนปกติอยู่แล้ว 20,000 บาทต่อเดือน แต่อาทิตย์นี้ เขาโอเคจะทำงานให้ก็จะได้ “ค่าจ้างวันหยุด” เพิ่มเข้าไปเป็น 1x ของอัตราเรทต่อวันเฉลี่ยปกติ
วิธีคำนวณคือ (20,000/30/8)*1*8 = 666.67 บาท
เงินเดือน 2 หมื่นบาทหารด้วยจำนวนวันต่อเดือนเท่ากับสามสิบ แล้วหารด้วยจำนวนชั่วโมงทำงานต่อวัน แล้วเอาเรทคูณหนึ่งแล้วคูณด้วยจำนวนชั่วโมงกรณีนี้คือ แปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น เท่ากับแปดชั่วโมง ก็จะได้เงินค่าจ้างวันหยุดเท่ากับ 666.67 บาท
และ พนักงาน ข. คนนี้ยังจะต้องมาก่อนเวลาอีกคือมา 7 โมงเช้าและออกจากหลังบู้ทที่ 6 โมงเย็น แปลว่า เขาจะต้องมาทำงาน OT ก่อนเวลา 1 ชั่วโมง และ OT หลังเวลางานอีก 1 ชั่วโมงแปลว่า OT รวมทั้งหมด 2 ชั่วโมง แล้วเอาไปคำนวณได้ดังต่อไปนี้
(20,000/30/8)*3*2= 500 บาท เป็น OT ทำงานในวันหยุด
โดยสรุป แปลว่า พนักงาน ข. คนนี้เพียงมาออกบู้ทวันหยุดจะได้เงินทั้งหมด 666.67+500=1166.67 บาท. เพิ่มเข้ามาจากเงินเดือนปกติที่เขาได้
เพื่อให้เข้าใจได้ครบถ้วน สมมุติเพิ่มไปอีกว่า นอกจาก พนักงาน ข. คนนี้แล้ว จะต้องมีพนักงานคนรถที่ปกติรับค่าแรงเป็นรายวันไปออกงานด้วยเช่นเดียวกันโดยเข้าออกมาปกติเหมือนกับพนักงาน ข. ทุกประการแต่ต่างกันตรงที่ว่า พนักงานคนนี้เป็นพนักงานรายวัน เราจะคิดค่า OT ตัวคูณเหมือนกันทั้งหมด เว้นแต่ส่วนที่เป็น “ค่าจ้างวันหยุด” เพราะต้องเข้าใจก่อนว่า พนักงานรายวันคนนี้ จะไม่ได้เงินหากว่าไม่ได้มาทำงาน ไม่เหมือนกับพนักงานรายเดือนที่จะได้ค่าจ้างทุกวันแม้ว่าจะเป็นวันหยุดก็ตาม ตัวอย่างเช่น พนักงานคนรถได้ค่าแรงรายวัน 350 บาทต่อวัน เขามาวันอาทิตย์ 7 โมงเช้าและเลิกงาน หกโมงเย็นเหมือนกับพนักงาน ข. เขาจะได้เงินจากการทำงานวันนั้นคือ
ค่าจ้างวันหยุด = (350*2) = 700 บาท แปลความว่า พนักงานรายวันเรท 350 บาทต่อวันและมาทำงานวันหยุด เขาจะได้เป็นสองแรงจากการทำงานวันทำงานปกติ
ค่า OT วันหยุด = (350/8)*3*2= 262.50 บาท แปลความว่า พนักงานรายวันเรท 350 บาทต่อวัน หารด้วยแปดเพื่อให้รู้ว่าชั่วโมงละกี่บาท แล้วเอาไปคูณด้วย 3 เท่าเพราะเป็น OT พิเศษในวันหยุดแล้วก็เอาไปคูณด้วยจำนวนชั่วโมงที่เขาเข้างานและออกงานนอกเวลาทำงานปกติที่ 2 ชั่วโมง
แปลว่าพนักงานขับรถคนนี้ได้เงินทั้งหมดจากการทำงานเพิ่มเท่ากับ 962.50 บาท.-
วิธีการคิด OT และการทำงานในวันหยุดนั้นถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจ ในการคำนวณเพื่อความถูกต้องและเป็นไปตามกฏหมายแรงงานปกติหวังว่าบทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจได้ครอบคลุมมากขึ้นหากมีปัญหาอะไรเพิ่มเติมสามารถปรึกษาทีมงานของเราได้
05/07/2024
สอบถามรายละเอียดเพิ่มสามารถติดต่อได้ที่
เวลาทำการ จ-ส (เวลา 08:00-17:30) เบอร์โทรศัพท์ 02-463-6493 098-838-3909 098-016-1524 092-279-9484